HomeCARรู้ไหม ทำไมรถยนต์นำเข้าถึงมีราคาแพง?

รู้ไหม ทำไมรถยนต์นำเข้าถึงมีราคาแพง?

คงมีหลายคนใฝ่ฝันอยากได้รถยนต์รุ่นที่แตกต่างจากรถยนต์รุ่นที่ผลิตในประเทศอย่าง Kei Car ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็กกระทัดรัดที่มีวางขายอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แต่พอเห็นราคาที่ผู้นำเข้าอิสระบางรายนำเข้ามาแล้ว ต้องหันกลับมามองรถยนต์ซี-เซ็กเมนต์ที่ผลิตภายในประเทศแทน เพราะว่ามีราคาที่ไม่แตกต่างกับรถยนต์ซี-เซ็กเมนต์เกรดแต่งสูงสุดที่ผลิตภายในประเทศเลย หรือบางทีอาจจะแพงกว่าด้วยซ้ำไป ทำให้รถยนต์ในฝันของเรา..ยังคงเป็นรถยนต์ในฝันกันต่อไป

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็สืบเนื่องมาจากรถยนต์นำเข้า (CBU[1]) แต่ละคันนั้น นอกจากราคารถยนต์แล้ว ยังต้องมีการจ่ายภาษีต่างๆ อีก 4 ขั้นตอน ก่อนที่ผู้นำเข้าจะบวกค่าดำเนินงาน และกำไรเข้าไปอีก ดังนั้น เรามาลองดูกันซิว่า หากต้องการนำเข้ารถยนต์สักหนึ่งคัน เราจะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง? ที่ส่งผลกระทบให้รถยนต์ในฝันของเรามีราคาสูงจนเกินเอื้อม!!!

โดยกรมศุลกากรได้มีวิธีการคำนวณภาษีรถยนต์นำเข้าไว้อย่างละเอียด ภายใต้หลักเกณฑ์การประเมินภาษีรถยนต์นำเข้าตามสเปกของรถยนต์ในแต่ละชนิดดังนี้

  1. ราคา CIF (Cost + Insurance + Freight)

คือ ราคารถยนต์ + ค่าประกันภัย + ค่าขนส่ง ใช้เป็นราคาฐานในการนำมาประเมินภาษี โดยการคำนวณภาษีรถยนต์นำเข้าในแต่ละคันนั้น จะถูกคำนวณจากราคา CIF ของรถยนต์ที่ได้นำเข้ามา ซึ่งเป็นราคาขายของรถยนต์บวกด้วยค่าประกันภัย และค่าขนส่งจากต่างประเทศมายังประเทศไทย ซึ่งราคา CIF นั้น จะถูกระบุอยู่ในเอกสารการนำเข้า

  • ภาษีอากรขาเข้า 80% ของราคา CIF

ภาษีอากรขาเข้า เป็นด่านแรกที่รถยนต์นำเข้าต้องเจอ คือ ภาษีอากรขาเข้าที่จะต้องจ่ายที่ท่าเรือก่อนนำรถยนต์ออกจากท่าเรือ เพื่อเข้ามาในประเทศ โดยมีอัตรา 80% ของราคา CIF

  • ภาษีสรรพสามิต 30 – 50%

กรมศุลกากรจะทำหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีชนิดนี้พร้อมกับภาษีอากรขาเข้า โดยภาษีสรรพสามิตนั้นจะอยู่ระหว่าง 30 – 50% ของราคา CIF รวมกับภาษีอากรขาเข้า ซึ่งอัตราภาษีชนิดนี้จะมีความแตกต่างกันออกไปตามความจุของกระบอกสูบ หรือขนาดของเครื่องยนต์ และอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

โดยรถยนต์นั่งที่มีเครื่องยนต์ไม่เกิน 3,000 ซีซี มีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 100-150 กรัม/กิโลเมตร จะมีอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 30% แต่ถ้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า 200 กรัม/กิโลเมตรจะเสียภาษี 40% ส่วนรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ 3,000 ซีซีขึ้นไป จะเสียภาษีสรรพสามิตที่ 50% ไม่ว่าจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าใดก็ตาม โดยสูตรการคำนวณอัตราการจัดเก็บภาษีชนิดนี้ คือ

(CIF + ภาษีอากรขาเข้า) x อัตราภาษีสรรพสามิต / 1 – (1.1 x อัตราภาษีสรรพสามิต)

  • ภาษีกระทรวงมหาดไทย 10%

อัตราภาษีกระทรวงมหาดไทยจะอยู่ที่ 10% ของภาษีสรรพสามิต

  •  ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7%

โดยสูตรการคำนวณอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% คือ

(ราคารถยนต์ CIF + ภาษีอากรขาเข้า + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีกระทรวงมหาดไทย ) x 7%

สรุปง่ายๆ ว่า หากเราต้องการนำเข้ารถยนต์ Kei Car ที่มีราคาเริ่มต้นในญี่ปุ่นซึ่งตีเป็นเงินไทยประมาณ 387,000 บาท บวกค่าประกันภัย และค่าขนส่งก็จะมีราคาประมาณ 450,000 บาท พอขึ้นท่าเรือที่ไทยปุ๊บจะเจอกับภาษีอากรขาเข้าอีก 80%  คิดเป็นเงิน 360,000 บาท แค่นี้รถยนต์ Kei Car น่ารักๆ ก็จะมีราคาประมาณ 8 แสนกว่าบาทแล้ว ยังไม่รวมภาษีสรรพสามิต 30% ภาษีกระทรวงมหาดไทย 10% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เมื่อรวมมูลค่ารถยนต์บวกกับภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมด รถยนต์ Kei Car ก็จะมีราคารวมเกือบ 1.3 ล้านบาท นี่เป็นราคาที่ยังไม่รวมค่าดำเนินงาน และกำไรของผู้รับนำเข้าอิสระอีกนะครับ เท่ากับว่ารถยนต์อีโค่คาร์รุ่นท็อปภายในประเทศมีราคาถูกกว่ากันเยอะ แถมยังได้เครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าอีกเกือบเท่าตัว!!!

แม้ว่าการซื้อรถยนต์ Kei Car อาจดูไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่สำหรับคนไทยอย่างเรา แต่การที่ได้รับรู้เรื่องราวของมันผ่านทางสื่อต่างๆ ก็เหมือนเป็นการได้เปิดหูเปิดตาในสิ่งที่เราอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะอย่างน้อย ๆ มันทำให้เราได้รู้ว่า บนโลกนี้ยังมีรถยนต์ขนาดเล็กทรงกล่องที่เรียกว่า Kei Car แบบนี้อยู่ด้วย..ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจดีนะครับ

ข้อมูลอ้างอิง

  1. บทความเรื่อง “วิธีคิดภาษีรถยนต์นำเข้า”
  • บทความเรื่อง “จะซื้อรถนำเข้าสักคัน ทำไมแพง?” https://bit.ly/3pAk92g
  • บทความเรื่อง “วิธีการคำนวณภาษี (รถยนต์)” https://bit.ly/3IJE1rq
  • บทความเรื่อง “ไขข้อข้องใจ…ทำไมรถนำเข้า (CBU) แพง?” https://bit.ly/3vWge43
  • บทความเรื่อง “รถยนต์ CKD และ CBU คืออะไร และเกี่ยวข้องกับการทำประกันรถยนต์อย่างไร” https://bit.ly/3sGDFfy
  • บทความเรื่อง “คนซื้อรถต้องรู้! รถ CBU และ CKD คืออะไร” https://bit.ly/3HDyyRu
  • บทความเรื่อง “รถ Kei Car คืออะไร?? พร้อมไขข้อข้องใจว่า ทำไมรถน่ารักแบบนี้ ถึงไม่มีขายในบ้านเรา” https://bit.ly/35xMz67

[1] CBU ย่อมาจาก Completely Built Up หมายถึง รถยนต์ที่ถูกผลิต และประกอบในต่างประเทศ 100% โดยการนำเข้ามาทั้งคัน ตัวอย่างเช่น รถยนต์หรูที่นำเข้ามาจากประเทศในแถบทวีปยุโรป หรือ รถยนต์ที่ไม่มีไลน์การผลิตภายในประเทศไทย เป็นต้น

TOPTHAIBRAND
TOPTHAIBRANDhttps://www.topthaibrand.com/
Full-time writer for lifestyle blogs, love nature, eating, travelling, sleeping and writing ! always make good decisions
RELATED ARTICLES

Leave a Reply

Most Popular

Recent Comments