ทำไมจึงไม่ควรไว้ใจ GPS มากเกินไป?
จากเหตุการณ์เศร้าสลดในหลายๆ กรณี ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางรถยนต์จากการใช้งานระบบ GPS หรืออย่างกรณีล่าสุดที่มีการขับขี่รถยนต์ตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้งานระบบนำทาง GPS ด้วยเช่นกัน โดยในวันนี้ผมได้รวบรวมคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้งานระบบ GPS อย่างไรให้ปลอดภัย เพื่อให้ทุกคนได้รู้ทัน และระมัดระวังตัวกันไว้
GPS (Global Positioning System) คือ ระบบนำทางที่ถูกใช้งานในรถยนต์ทั่วไป ซึ่งรูปแบบของมันนั้นจะเป็นการบอกแผนที่การเดินทางด้วยการป้อนข้อมูลของเป้าหมายลงไปในเครื่องนำทาง แล้วระบบจะทำการคำนวนเส้นทาง หรือระยะห่างโดยรวม เพื่อเป็นการวางแผนในการเดินทาง ระบบ GPS จึงนับเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการนำทางสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า มีหลายเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้นจากการใช้งานระบบ GPS บางรายอาจแค่หลงทาง แต่บางรายเคราะห์ร้ายเกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นเสียชีวิต!!!
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ผมจึงได้ทำการรวบรวม 7 คำแนะนำในการใช้งานระบบ GPS อย่างไรให้ปลอดภัย ดังนี้
- ประการแรกอย่าลืมว่า ระบบ GPS ไม่ได้สามารถใช้งานได้ในทุกที่ เพราะตัวมันเองก็ต้องการทรัพยากรอื่นๆ มาช่วยสนับสนุนการทำงานของมัน ได้แก่ แบตเตอรี่ ซอฟแวร์ และสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากแบตหมด ซอฟแวร์ไม่อัพเดท หรือสัญญาณดาวเทียมอ่อน มันก็อาจหมุนติ้วๆๆๆ ขณะที่กำลังทำหน้าที่นำทางให้เราอยู่ ดังนั้น เราจึงควรรอให้เนวิเกเตอร์ล็อกสัญญาณ GPS ก่อนการเดินทาง เพื่อป้องกันการผิดพลาด จากนั้นจึงค่อยระบุจุดหมายปลายทาง
- ตรวจสอบตำแหน่งจุดหมายปลายทางอย่างชัดเจนทุกครั้ง โดยการขยายเข้าไปในแผนที่เพื่อทำการสำรวจดูปลายทางที่ปักหมุดว่าตรงกับสถานที่ที่เราต้องการจะไปหรือไม่ เนื่องจากในบางสถานที่อาจมีชื่อซ้ำกันได้
- เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการนำทางแบบ Shortest Route หรือการหาทางที่ใกล้ที่สุด เพราะบ่อยครั้งมันมักจะพาเราเข้าป่า หรือลงน้ำซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แนะนำให้ปรับเป็นแบบ Quickest Route ที่เน้นการวิ่งบนถนนเส้นหลักซึ่งน่าจะปลอดภัยกว่า
- ควรวางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้า ฝึกฝนการใช้ระบบนำทางให้มีความชำนาญ และพยายามเรียนรู้เสียงเตือนต่างๆ บนระบบ GPS ให้ดี
- กรณีมีการนัดหมายที่ซีเรียสมากๆ เช่น การประชุม การนัดหมายราชการ การนัดเจรจาธุรกิจ หรือการเดินทางไปสนามบิน ฯลฯ ขอแนะนำให้รีบออกเดินทางก่อนเวลาสักหน่อยจะดีที่สุด จงอย่าเชื่อเวลาที่คำนวณโดยระบบ GPS ไปเสียทั้งหมด เพราะระบบ GPS สามารถคำนวณเวลาจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดหมายปลายทางให้ได้ก็จริง แต่ไม่สามารถบอกเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ว่า ในระหว่างทางนั้นเราจะต้องพบเจอเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไรบ้าง เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน หรือรถติด ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางให้ล่าช้าได้
- ขณะการใช้งาน GPS ต้องมีความระมัดระวังสูง เนื่องจากต้องแบ่งแยกสมาธิส่วนหนึ่งมาสนใจมัน ควบคู่ไปกับสมาธิที่ต้องใช้ในการขับรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับขี่ในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น บนถนนที่มีทางคู่ขนานหลายช่องทาง ทางแยก หรือทางยกระดับต่างๆ ซึ่งระบบ GPS อาจพาเราสับสนได้ เพราะมันไม่รู้ว่าเรากำลังขับอยู่ในช่องทางใดกันแน่ นอกจากนี้ยังต้องคอยระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการมัวแต่พะวงดูหน้าจอ GPS กันไว้ด้วย
- ข้อสุดท้าย!!! จงอย่าเชื่อระบบ GPS มากเกินไป เพราะเส้นทางที่มันได้นำทางเราไปนั้น บางครั้งเป็นเส้นทางลัดเลาะจนไม่น่าเชื่อว่าจะมียานพาหนะชนิดใดสามารถขับขี่สัญจรผ่านไปได้ ซึ่งถ้าหากลองขับตามมันไปสักระยะหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าเส้นทางดังกล่าวเริ่มไม่ปลอดภัย เช่น ถนนไม่ดี ทางเปลี่ยว ทางแคบ หรือเป็นถนนหนทางนอกเขตชุมชนไปมากๆ ขอให้ฉุกคิด และลองพิจารณาก่อนสักนิด ว่าควรขับไปต่อ หรือลองเปลี่ยนเส้นทางใหม่ที่น่าจะปลอดภัยกว่านี้
อย่างไรก็ตาม จงระลึกไว้เสมอว่า เทคโนโลยีก็สามารถผิดพลาดได้เช่นกัน และนอกเหนือจากคำแนะนำทั้ง 7 ข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว การมีสติ และความไม่ประมาท ก็เป็นอีก 2 สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัยบนท้องถนน
ข้อมูลอ้างอิง
- บทความเรื่อง “แนะวิธีใช้จีพีเอสอย่างไรให้ปลอดภัยไม่หลงทาง” https://bit.ly/3MfBNSI
- บทความเรื่อง “5 ข้อฝากให้คิด : ทำไมไม่ควรไว้ใจ GPS มากจนเกินไป?” https://bit.ly/3ptsHYT