โรคเรื้อรังในยุค Social Media ที่ยิ่งกว่าออฟฟิศซินโดรม!
รู้หรือไม่? ในปัจจุบันนี้อาการปวดคอ บ่า ไหล่ ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะมนุษย์ออฟฟิศอีกต่อไปแล้ว เเต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมนุษย์ยุค Social Media เพราะแทบทุกคนล้วนมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนติดตัวกันทั้งนั้น..เปรียบได้ดั่งอวัยวะอีกส่วนของร่างกาย!!!
หลายคนติดโทรศัพท์มือถือเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน ก็ต้องออนไลน์ โพสต์สเตตัสระบายความรู้สึกต่างๆ หรือเช็คอินกันตลอด หลายคนก้มดูโทรศัพท์มือถือกันตลอดเวลาเลยก็ว่าได้ พูดง่ายๆ คือ ลืมตาตื่นนอนมาในตอนเช้าก็รีบคว้าโทรศัพท์มาเลื่อนไถหน้าจอเป็นสิ่งแรก จนถึงเวลานอนก็หลับคาจอโทรศัพท์กันเลยทีเดียว!!!
รายงาน Thailand Digital Stat 2021 จาก We Are Social มีข้อมูลสถิติการใช้อินเทอร์เน็ต และออนไลน์ของคนไทยในปี 2021 พบว่า ตัวเลขการเป็นเจ้าของโทรศัพท์ Smartphone ปีนี้ สูงขึ้นจาก2020 มาอยู่ที่ 98.9% ซึ่งก็เข้าใกล้ตัวเลข 100% ชั่วโมง การใช้มือถือของคนไทยปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ชั่วโมง 7 นาทีต่อวัน โดยพบว่า ใช้เวลาเพิ่มไปกับการดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม หรือการดูทีวีทางออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า คนไทยใช้เวลากับ Social Media เฉลี่ย 2 ชั่วโมง 48 นาทีต่อวัน หรือเกือบ 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ดังนั้น เราอาจจะต้องย้อนกลับมาสำรวจตัวเองด้วยว่า ทุกวันนี้เราใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยสักแค่ไหน กี่ชั่วโมงต่อวัน แล้วตอนนี้สุขภาพของเราเป็นยังไงบ้าง เพราะการจ้องหน้าจอมือถือนานๆ บ่อยๆ ซึ่งนอกจากจะไม่ดีกับสายตาของเราแล้ว อีก 1 อวัยวะที่ต้องรับบทหนัก และหลายคนมักมองข้ามกันไป นั่นก็คือ คอ ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดรวมของเส้นประสาทส่วนบริเวณคอที่มีกระดูกสันหลัง 7 ชิ้น ซึ่งกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นมีคอทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักของศีรษะ และปกป้องเส้นประสาท โดยการช่วยนำข้อมูลรับความรู้สึก และสั่งการจากสมองลงไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
อ้างอิงรายงานของสถาบันเทคโนโลยีการผ่าตัดนานาชาติ (Surgical Technology International) ที่ระบุว่า กระดูกสันหลังของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ต้องทนรับแรงกดจากการก้มหน้าเล่นสมาร์ตโฟนมากถึง 1,000 – 1,400 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งศีรษะของมนุษย์มีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม แต่การก้มหน้า ทำให้ตำแหน่งของศีรษะเคลื่อนไปข้างหน้า ยิ่งถ้าหากก้มหน้ามากเท่าไหร่ คอก็จะยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น
โดยในเวลาที่เราไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ คอของคนเราจะตั้งตรง กระดูกสันหลังก็จะรับน้ำหนักศีรษะของเราเพียงแค่ประมาณ 4 กิโลกรัม แต่เมื่อเราก้มหน้าเล่นมือถือ กระดูกสันหลังของเราก็จะรับน้ำหนักศีรษะที่มากขึ้น ซึ่งหากก้มหน้า 30 องศา ก็จะรับน้ำหนักเพิ่มเป็น 18 กิโลกรัม ถ้าหากก้มหน้า 45 องศา ก็จะรับน้ำหนักเป็น 22 กิโลกรัม และถ้าหากก้มหน้า 60 องศา ก็จะรับน้ำหนักเป็น 26 กิโลกรัม ส่งผลให้เกิดแรงกดทับบริเวณข้อต่อของกระดูกสันหลัง ทำให้ข้อต่อคอต้องรับภาระจากน้ำหนักที่เกิดจากการก้มหน้ามากขึ้นนั่นเอง
ผลเสียจากการก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือ อาจทำให้เราปวดเมื่อยกล้ามเนื้อช่วงคอ บ่า ไหล่ สะบัก ยิ่งถ้าหากเราปล่อยไว้นานๆ โดยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะยิ่งเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่โรคกระดูกคอเสื่อมตามมาได้ ซึ่งทางการแพทย์เราจะเรียกว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ หรือ Text Neck Syndrome เพราะเมื่อกล้ามเนื้อหดเกร็ง ก็จะส่งผลทำให้ไขสันหลังไปกดทับรากประสาทบริเวณคอ คราวนี้ล่ะก็ยาวเลย ต้องไปพบหมอเพื่อทำการรักษา และยังไม่รู้ด้วยว่าจะสามารถกลับมาหายขาดได้เหมือนเดิมอีกหรือเปล่า!!!
อาการปวดคอ บ่า หรือไหล่เรื้อรัง อาจจะลุกลามไปสู่โรคอื่นๆ ได้อีก เช่น กลุ่มอาการ TOS (Thoracic Outlet Syndrome) คือโรคปวดคอก็ไม่ใช่ ปวดไหล่ก็ไม่เชิง ซึ่งเกิดจากเส้นเลือด และเส้นประสาทบริเวณระหว่างต้นคอกับรักแร้ไปจนถึงด้านหน้าของไหล่ และหน้าอก ถูกกดทับจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อส่วนระหว่างช่องอก กระดูกไหปลาร้า และกระดูกซี่โครง มีหลายคนที่อาจมีอาการแตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้าหากเกิดการกดทับที่หลอดเลือด จนทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก ก็จะทำให้แขนอ่อนแรง มือ และนิ้วมือเย็นผิดปกติ เกิดอาการเหน็บชาที่นิ้วมือ ส่วนการกดทับที่เส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดอาการชา และรู้สึกปวดบริเวณคอ ไหล่ หรือมือ ในบางรายไม่สามารถกำมือได้แน่น เนื่องจากไม่มีแรง
เห็นอาการต่างๆ เหล่านี้แล้วรู้สึกกลัวกันบ้างไหมครับ!!! อย่าคิดว่าพฤติกรรมการก้มดูมือถือนานๆ เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเมื่อทำซ้ำๆ บ่อยๆ ก็เหมือนเป็นการสะสมความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้ในอนาคต วิธีที่ดี และง่ายที่สุดในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลุกลามใหญ่โต ก็คือ ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเวลาที่ต้องนั่งทำงาน ด้วยการปรับระดับ และท่าทางของคอให้อยู่ในแนวตรงให้มากที่สุด ไม่ก้มหน้า ก้มคอ ห่อหลัง หรือห่อไหล่ และควรพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะๆ ที่สำคัญไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ โดยอาจจะลองจำกัดระยะเวลาในการใช้งานไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อวันก็ว่าไป แค่นี้ก็อาจพอช่วยได้บ้างเเล้วล่ะครับ
เพราะโลกของเราทุกวันนี้ มีโลกออนไลน์ที่เปรียบเสมือนโลกคู่ขนานกับโลกความเป็นจริง จงอย่าให้เทคโนโลยีการสื่อสารมาทำให้ชีวิตในโลกความเป็นจริงของเรานั้นมีปัญหา
ข้อมูลอ้างอิง
- บทความเรื่อง “โรคเรื้อรังยุค 5G ที่ไปไกลกว่า ออฟฟิศซินโดรม” https://bit.ly/3IOCDDY