วิวิธีป้องกันเงินหายจากบัญชี มีอะไรบ้าง? เช็กได้ที่นี่!
จากกระแสข่าวที่สังคมให้ความสนใจกันเป็นอย่างมากในตอนนี้ กรณีที่ผู้เสียหายเป็นจำนวนมากถูกโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากติดต่อกันหลายรายการจนเงินหมดบัญชี ซึ่งในเบื้องต้นสมาคมธนาคารไทยได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้า และบริการร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่แอปดูดเงิน หรือธนาคารโดนแฮกตามที่ปรากฏเป็นข่าว!!!
แต่ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง และป้องกันความเสียหายจากการถูกโอนเงินออกจากบัญชีที่อาจเกิดขึ้นได้ ผมจึงรวบรวมวิธีการป้องกันตัวเองเบื้องต้นที่สามารถทำได้ดีที่สุด ณ ขณะนี้ โดยจะขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน คือ วิธีป้องกันทางออนไลน์ และวิธีป้องกันทางออฟไลน์ ซึ่งมีรายละเอียดังต่อไปนี้
วิธีป้องกันทางออนไลน์
- ไม่ผูกบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ไว้กับเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะอาจเสี่ยงต่อการที่ข้อมูลบัตรจะรั่วไหล หรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
- หากจำเป็นต้องนำบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตไปผูกไว้กับเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ก็ควรกำหนดวงเงินของบัตรที่ทำการผูกข้อมูลให้น้อยที่สุด และเหมาะสมต่อการใช้งาน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง และจำกัดวงเงินความเสียหายหากเกิดปัญหาขึ้น
- วิธีการที่ดีที่สุด คือ ควรเปิดบัญชีใหม่เพื่อใช้สำหรับช้อปปิ้งออนไลน์โดยเฉพาะ อย่าใช้บัญชีเดียวกับบัญชีเงินเดือน หรือเงินออมก้อนใหญ่ๆ เพราะหากเกิดกรณีถูกแฮกบัญชีขึ้นมา จะได้ไม่เชื่อมโยงกับเงินออมที่มีทั้งหมด
- ควรสมัครบริการข้อความแจ้งเตือนกับทางธนาคาร หรือสถาบันทางการเงินให้ช่วยส่งข้อความแจ้งเตือน (SMS Alert) เมื่อมีการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เพื่อจะได้ทราบการเคลื่อนไหวของธุรกรรมการเงินได้ตลอดเวลา
- ไม่ควรกดลิงค์แปลกๆ (Phishing) เช่น ลิงค์ที่สะกดเป็นข้อความภาษาอังกฤษแปลกๆ หรือข้อความในลักษณะต่างๆ ที่สร้างความสนใจ ตกใจ จนต้องกดลิงค์ที่แนบมา เช่น แจกเงินเข้าบัญชี แจกสติ๊กเกอร์ แจกวัคซีนโควิด-19 หรือมีข้อความบอกว่าเรากดเงินสำเร็จ ทั้งที่เราไม่ได้ทำธุรกรรมใดๆ กับธนาคารดังกล่าวเลย ฯลฯ ดังนั้น ก่อนที่จะทำการกดลิงค์ใดๆ ก็ตามที่ได้รับทาง SMS ขอให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนทุกครั้ง
- สำหรับกรณีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ก็เช่นกัน เราสามารถจำกัดวงเงินในการใช้งานได้เหมือนกับบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือหากไม่อยากจำกัดวงเงิน ก็ควรเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เท่ากับจำนวนเงินที่จะทำรายการนั้นๆ เช่น หากเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีไว้สำหรับการใช้จ่ายที่ร้านสะดวกซื้อ ก็ควรเติมเงินไว้เล็กน้อยให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละสัปดาห์ หรือแต่ละเดือนเท่านั้น เพื่อเป็นการควบคุมรายการใช้จ่าย และยังสามารถตรวจสอบการใช้งานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
วิธีป้องกันทางออฟไลน์
- นำสติกเกอร์ หรือวัตถุอื่นๆ มาปิดบังหมายเลขหลังบัตรเครดิต (CVV) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่น เช่น พนักงานห้างสรรพสินค้า พนักงานสถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ แอบนำหมายเลขดังกล่าว พร้อมข้อมูลหน้าบัตรไปใช้ให้เกิดความเสียหาย
- หมั่นตรวจสอบรายการธุรกรรมของบัตรอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีรายการธุรกรรมใดที่ผิดปกติ ควรรีบแจ้งให้ทางธนาคารทราบโดยด่วน เพื่อทำการอายัดบัตรทันที
ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางป้องกันการทำธุรกรรมออนไลน์ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น มันคงเป็นเรื่องยาก!!! ที่จะหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมออนไลน์ในยุคนี้ เพราะทั้งค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งการทำบุญทำทานในปัจจุบัน ก็ใช้รูปแบบการทำธุรกรรมออนไลน์กันเกือบหมดแล้วทั้งสิ้น ดังนั้น เราทุกคนต้องพยายามหาข้อมูลเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ ที่มักมาในรูปแบบใหม่ๆ ก็จะเป็นการดีที่สุดครับ
ข้อมูลอ้างอิง
- บทความเรื่อง “รู้ทันมิจฉาชีพ ทำอย่างไรเมื่อเงินหายจากบัญชี พร้อมวิธีป้องกันโดนดูดเงินไม่รู้ตัว”
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6683157
- บทความเรื่อง “ชาวเน็ตแห่แชร์ วิธีการป้องกันการถูกดูดเงินจากบัญชี มีอะไรบ้างเช็กเลยที่นี่”
https://www.tnnthailand.com/news/socialtalk/93975/
- บทความเรื่อง “ตำรวจแนะวิธีลดความเสี่ยง ถูกดูดเงินในบัญชี หากพบผิดปกติ ควรรีบอายัดบัตร”
https://www.thairath.co.th/news/society/2222306
- บทความเรื่อง “เช็ก 3 คำแนะนำ วิธีป้องกันถูกแฮกเงินในบัญชี หลังเหยื่อถูกดูดเงินหายรัว ๆ เป็นร้อยครั้ง”
https://hilight.kapook.com/view/217558
- บทความเรื่อง “หนุ่มอึ้ง เจอถอนเงิน 749 ครั้ง สเตตเมนต์ยาวเป็นหางว่าว ทั้งที่ไม่มีบัตร โดนได้ไง”